พระมเหศวร พิมพ์ใหญ่ มีหู กรุวัดพระศรีฯ จ. สุพรรณบุรี
พระมเหศวร มีพุทธศิลปะเป็นแบบศิลปะอู่ทอง เช่นเดียวกับ “พระผงสุพรรณ” จึงสันนิษฐานว่าเป็นพระที่สร้างโดยพระมหากษัตริย์เมืองอู่ทองเช่นกัน พุทธลักษณะองค์พระประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย สองหน้า แต่ละหน้าขององค์พระสวนกัน มีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นตำนานเล่าขานสืบมา 2 ประการ คือ
1. “พิมพ์ทรง” ที่ออกจะแปลกแตกต่างไปจากพระพิมพ์อื่นๆ ที่เห็นกันอยู่ทั่วไป ซึ่งต้องยอมรับในภูมิปัญญาไทยสมัยก่อนที่สามารถรังสรรค์ชิ้นงานประติมากรรมด้วยความชาญฉลาด ด้วยปัญหาข้อหนึ่งของพระเนื้อชิน
คือส่วนพระศอขององค์พระมักจะบอบบาง ทำให้เปราะและแตกหักง่าย ผู้สร้างจึงแก้โดยเอาส่วนที่เป็นพระศอของพระอีกองค์หนึ่งนั่งสวนทางกัน ดังนั้น ส่วนที่เปราะบางคือพระศอ จึงไปอยู่ในส่วนที่เป็นพระเพลาของพระอีกด้านหนึ่ง สามารถลบล้างในส่วนที่เปราะบางได้อย่างสิ้นเชิง จึงเรียกกันแต่ก่อนว่า “พระสวน”
ส่วน คำว่า “มเห” แปลว่ายิ่งใหญ่ เพราะถือกันว่ากรุวัดพระศรีมหาธาตุ สุพรรณบุรี เป็นวัดที่กษัตริย์สร้าง ซึ่งภายในกรุพระปรางค์ที่พบนั้น นอกจากพบพระมเหศวรแล้วยังพบพระสำคัญอื่นๆ อีกจำนวนมาก อาทิ พระผงสุพรรณอันลือลั่น พระกำแพงศอก พระกำแพงคืบ และพระกำแพงนิ้ว เป็นต้น
2 “ความเข้มขลังด้านพุทธคุณครบครัน” ตามตำนานกล่าวขานกันสืบต่อมาว่า “… หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในแถบภาคกลางของไทย เช่น ชัยนาท อุทัยธานี และสุพรรณบุรี ได้เกิดชุมโจรออกปล้นสะดมชาวบ้านอย่างชุกชุม จนเป็นที่หวาดผวาแก่อาณาประชาราษฎร์ทั่วไป ตกเพลาค่ำคืนต้องคอยระมัดระวังอยู่ยามตามไฟอย่างเข้มงวด ยิ่งตามรอยต่อของทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว จะมีชุมโจรที่น่าเกรงขาม
อาทิ เสือฝ้าย และ เสือมเหศวร เป็นต้น โดยเฉพาะ “เสือมเหศวร” มีชื่อเสียงโด่งดังมากในเรื่องอยู่ยงคงกระพัน ยิงฟันไม่เข้า เล่ากันว่า เพราะเสือมเหศวรมีพระเครื่องชั้นดีอยู่องค์หนึ่งที่อาราธนาอยู่บนคอตลอดเวลา เป็นพระเนื้อชิน ประทับนั่งปางมารวิชัย สองหน้า นั่งเอาพระเศียรสวนทางกัน สมัยนั้นเรียกกันว่า “พระสวน”…” บ้างจึงกล่าวกันว่า ได้นำเอาชื่อของเสือมเหศวรมาเรียกเป็นชื่อพระพิมพ์นี้ว่า “พระมเหศวร” นั่นเอง
พระมเหศวร มีมากมายหลายพิมพ์ทรง โดยแบ่งเป็นพิมพ์ใหญ่ๆ ได้ 5 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พระสวนเดี่ยว และพระสวนตรง
“เนื้อองค์พระเป็นประเภทเนื้อชินเงินหรือเนื้อชินแข็ง ที่เรียกว่า เนื้อชินกรอบ” มวลสารจะเป็นส่วนผสมของเนื้อดีบุกมากกว่าเนื้อตะกั่ว เนื้อชินชนิดนี้จะมีลักษณะแข็ง เมื่อผ่านกาลเวลา จะทำปฏิกิริยากับอากาศ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเกิดสนิม ซึ่งจะกัดกร่อนลงไปในเนื้อ มากบ้างน้อยบ้าง เล็กบ้างใหญ่บ้าง แล้วแต่ปัจจัยปรุงแต่ง อย่างเช่น ความชื้น ฯลฯ เราเรียกว่า “สนิมขุม”
นอกจากนี้จะเกิด “รอยระเบิดแตกปริ” ตามผิว ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยจะแตกจากภายในปะทุออกมาข้างนอก สามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัด ใช้เป็นหลักการพิจารณาสำคัญประการหนึ่ง สำหรับบางองค์ที่มีส่วนผสมของเนื้อตะกั่วมากกว่าเนื้อดีบุก
ซึ่งเรียกว่า “เนื้อชินอ่อน” เนื้อจะไม่แข็งกรอบเหมือนชินเงิน เมื่อกระทบของแข็งจะเกิดเป็นรอยบุ๋มลึก และสามารถโค้งงอได้เล็กน้อย จะมีข้อดีตรงที่ไม่เกิดสนิมขุม รอยกัดกร่อน หรือระเบิดแตกปริ แต่จะเกิดเป็น “สนิมไข” ที่มีลักษณะเป็นแผ่นสีนวลขาว เมื่อใช้ไม้ทิ่มแทงจะค่อยๆ หลุดออก
แต่ถ้าทิ้งเอาไว้หรือแขวนคอ พอถูกไอเหงื่อก็จะเกิดขึ้นมาอีกภายใน 3-4 วัน ซึ่งต่างจาก “สนิมไขเทียม” แม้จะมีลักษณะเป็นแผ่นเช่นกัน แต่เวลาล้างสนิมไขก็จะหลุดลอกออกหมด และไม่เกิดขึ้นมาใหม่ อันเป็นข้อสังเกตสำคัญอีกประการหนึ่ง
ผิวขององค์พระนั้น ถ้ายังไม่ได้ถูกใช้หรือสัมผัส ผิวจะเนียนและมีสีออกไปทางดำเอามากๆ แต่ถ้าถูกใช้จนสึกจะเห็นเนื้อในขาวนวลสดใสราวกับสีเงินยวง หรือผิวพระจะเป็นสองชั้น เข้าใจว่าน่าจะมีส่วนผสมของปรอทอยู่มาก ดังภาษาชาวบ้านที่ว่า “ตลอดองค์พระมีเสื้อใส่ทับอยู่อีกชั้นหนึ่ง” ย่อมยืนยันได้ว่า เป็นของแท้แน่นอน
ที่มา:
“ราม วัชรประดิษฐ์”
พระมเหศวร พิมพ์ใหญ่ มีหู กรุวัดพระศรีฯ จ. สุพรรณบุรี
- Product Code: w094
- Availability: In Stock
-
$0.00