พระเลี่ยง กรุดอยคำ-กรุช้างค้ำ แตกกรุ ปี ๒๕๐๙
พระกระจายอยู่ตามพื้นดิน พระส่วนใหญ่ที่พบมีราดำ
และคราบดินกรุติดตามองค์พระ พระกรุช้างค้ำ แตกกรุ ปี ๒๕๒๕ พบ พระสามหอม
พระคง พระเลี่ยง พิมพ์เดียวกับ “พระกรุดอยคำ” พระส่วนใหญ่ฝังอยู่ในทราย
ผิวพระสะอาด ทางวัดออกให้บูชาองค์ละ ๒๐๐ บาท พระคัดสวย องค์ละ ๕๐๐ บาท
สมัยนั้น องค์สวยแชมป์ซื้อกัน ๒,๐๐๐ บาท
วัดพระธาตุดอยคำสร้างในสมัยพระนางจามเทวีกษัตริย์แห่งหริภุญชัย
โดยพระโอรสทั้ง 2 เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ. 1230
ประกอบด้วยเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
ศาลาการเปรียญกุฏิสงฆ์ และพระพุทธรูปปูนปั้น เดิมชื่อวัดสุวรรณบรรพต
แต่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดดอยคำ" พ.ศ. 2509 ขณะนั้นวัดดอยคำเป็นวัดร้าง
ต่อมากรุแตกชาวบ้านพบโบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น พระรอดหลวง
พระหินทรายปิดทององค์ใหญ่ พระเลี่ยง พระสามหมอ (เนื้อดิน)
ซึ่งนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดพระธาตุดอยคำ ตำนาน เทือกเขาถนนธงชัย
ด้านทิศตะวันตกบนเทือกเขาเหล่านั้นจะเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระเจดีย์สำคัญและเก่าแก่
คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ถึง 2 องค์พระเจดีย์
แต่ละแห่งถูกสถาปนาขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ในสมัยหริภุญชัยและล้านนาตามลำดับ
หนึ่งในนั้นคือพระธาตุดอยคำ อยู่บนยอดเขาเล็ก ๆ
สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 200 เมตร
อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า “พระธาตุดอยคำ”
เคยเป็นที่อยู่อาศัยของยักษ์สองผัวเมีย ชื่อ จิคำและตาเขียวมาก่อน
ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้เรียกยักษ์ทั้งสองนี้ว่า “ปู่แสะ – ย่าแสะ”
ปู่แสะย่าแสะมีลูก 1 คน ชื่อว่า “สุเทวฤๅษี” เหตุที่ได้ชื่อว่าดอยคำ
เนื่องจากศุภนิมิตที่ยักษ์ทั้งสองได้รับพระเกศาธาตุจากพระพุทธเจ้า
เกิดฝนตกหนักหลายวัน ทำให้น้ำฝนเซาะและพัดพาแร่ทองคำบนไหล่เขา
และลำห้วยไหลลงสู่ปากถ้ำเป็นจำนวนมาก จึงเรียกภูเขาลูกนี้ว่า “ดอยคำ”
จากตำนานหลายฉบับได้กล่าวว่า
เทวดาได้นำพระเกศาธาตุที่พระพุทธเจ้าได้ประทานแก่ปู่แสะและย่าแสะ
นำขึ้นมาฝังและก่อสถูปไว้บนดอยแห่งนี้ และต่อมาในปี พ.ศ. 1230 เจ้ามหันตยศ
และเจ้าอนันตยศ 2 พระโอรสแฝดของพระนางจามเทวี
แห่งหริภุญชัยนครได้ขึ้นมาก่อเจดีย์ครอบพระสถูปเกศานั้นไว้
ส่วนพระเจดีย์แห่งที่ 2 ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ทางทิศเหนือของดอยคำ คือ
พระธาตุดอยสุเทพ