พระร่วงยืน หลังลายผ้า จ.ลพบุรี

ในบันทึกจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศ ต่างก็เรียกเมืองลพบุรีว่า ละโว้ ดังนั้นคำว่า ละโว้ จึงเป็นชื่อที่เรียกเมืองลพบุรี มาตั้งแต่อดีตกาลนานมาแล้ว

 บางตำนานได้กล่าวถึง เมืองลพบุรี ไว้ว่า...เมื่อประมาณพันกว่าปีมาแล้ว มี พระยาสามพี่น้อง ได้เป็นใหญ่อยู่ในดินแดนแถบนี้ ต่อมาได้เป็นผู้สร้างเมืองละโว้ขึ้นมา พร้อมกับได้สร้าง พระปรางค์สามยอด ขึ้น เพื่อประกาศถึงความเจริญรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ของพระยาสามพี่น้องแห่งตักสิลา ที่มาตั้งเมืองละโว้เป็นราชธานี

 จะเห็นได้ว่า ลพบุรีเป็นดินแดนที่มีอารยธรรมเก่าแก่มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงยุคปัจจุบัน จากหลักฐานที่เป็นสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น เช่น พระปรางค์สามยอด ที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลทางศิลปะแบบ บายน ของขอม และมีชื่อเรียกเฉพาะว่า เป็นศิลปะแบบลพบุรี สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในราวปีพุทธศักราช ๑๘๐๐ จึงนับว่า เป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของเมืองลพบุรี ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่สามารถบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองของลพบุรีในอดีตกาลได้เป็นอย่างดี

 ด้วยสาเหตุที่ขอมเคยปกครองเมืองลพบุรีมาก่อน สถาปัตยกรรม และพระเครื่องต่างๆ ของเมืองลพบุรี จึงเป็นศิลปะแบบขอมแทบทั้งสิ้น แต่จะมีฝีมือของช่างอู่ทอง และช่างอยุธยาปะปนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก

 พระเครื่องที่กำเนิดจากเมืองลพบุรี ส่วนมากจะเป็นพระเนื้อชิน ที่เป็นเนื้อดิน หรือเนื้อสัมฤทธิ์ก็มีบ้าง แต่มีน้อยกว่าเนื้อชิน

 วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดที่มีความสำคัญ และเก่าแก่มากที่สุดวัดหนึ่งของ จ.ลพบุรี มีพื้นที่เป็นบริเวณกว้างขวางมาก ปัจจุบันเป็นวัดร้าง โครงการอนุรักษ์โบราณสถานลพบุรี ได้เข้าไปดำเนินการขุดแต่งบูรณะซ่อมแซม และขุดสำรวจทางวิชาการโบราณคดี ภายในบริเวณวัดนี้ เพื่อค้นหาหลักฐานทางโบราณคดีเพื่อการศึกษา ด้วยเหตุว่า วัดแห่งนี้เป็นวัดที่มีความสำคัญทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ เป็นอย่างมาก

 การถือกำเนิดของวัดแห่งนี้ มีมาแต่ครั้งใด ยุคไหน ใครเป็นคนสร้าง ยังไม่อาจยืนยันได้อย่างชัดเจน เป็นเพียงการสันนิษฐานจากโบราณสถาน และโบราณวัตถุต่างๆ ที่มีอยู่ ว่าน่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ขณะที่อาณาจักรเขมรเรืองอำนาจ และมีอิทธิพลเหนืออาณาบริเวณแห่งนี้ โดยมีหลักฐานสำคัญ คือ พระปรางค์องค์ใหญ่ หรือพระปรางค์องค์ประธาน ซึ่งก่อด้วยศิลาแลง เป็นสิ่งยืนยันถึงจุดกำเนิด รวมไปถึงพระปรางค์นอกระเบียงคดชั้นใน ซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของพระปรางค์องค์ประธาน

 วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ นอกจากจะเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นแหล่งกำเนิด พระพิมพ์ หรือ พระเครื่อง ที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายพิมพ์ ทั้งประเภทพระเนื้อชิน เนื้อดิน และอื่นๆ

 พระเครื่องเหล่านี้ล้วนเป็นที่รู้จัก และเป็นที่นิยมของบรรดานักสะสมพระเครื่องตลอดมาทุกยุคสมัย อีกทั้งยังมีสนนราคาค่านิยมสูงขึ้นมาเรื่อยๆ

 พระเครื่องที่นิยมกันมากสุด และถือเป็นอันดับหนึ่งของกรุนี้ คือ พระร่วงยืนหลังลายผ้า กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นพระปรางค์ยืนประทานพร ศิลปะเขมร ยุคบายน แตกกรุออกมาครั้งแรกเมื่อประมาณ ๑๒๐ ปีก่อน ประมาณ พ.ศ.๒๔๓๐

 นับถึงวันนี้ อายุของพระพิมพ์นี้ประมาณ ๘๐๐ ปี เข้าใจว่าขอมสร้างตอนที่เมืองลพบุรีอยู่ภายใต้การปกครองของขอม ซึ่งตอนนั้นเรียกว่า เมืองละโว้

 พระร่วงยืนหลังลายผ้า เมืองลพบุรี มีอยู่ด้วยกัน ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ซึ่งเรียกว่า พิมพ์นิยม และ พิมพ์เล็ก ส่วนพระร่วงพิมพ์อื่นๆ ที่แตกกรุขึ้นมาพร้อมกัน ที่มิใช่พระร่วงหลังลายผ้าก็มี

 พุทธลักษณะ พระร่วงยืนหลังลายผ้า เป็นศิลปะลพบุรีโดยแท้ องค์พระยืนประทานพร ภายในซุ้มเรือนแก้ว ยกพระหัตถ์ขวาเสมอพระอุระ พระกรซ้ายทอดลงสู่เบื้องล่าง พระพักตร์แลดูเคร่งขรึม และดุดัน 

 พระร่วงยืนหลังลายผ้า นามอมตะแห่งพระกรุเมืองละโว้ นับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งตำนาน พระร่วงยืนประทานพร และเป็นหนึ่งใน จักรพรรดิพระเครื่องเนื้อชินสนิมแดง ที่ทุกคนต่างแสวงหาเอาไว้ในครอบครอง

 แตกกรุออกมาครั้งแรก พ.ศ.๒๔๓๐ ต่อมาได้แตกกรุออกมาอีก ๒ ครั้ง ในพ.ศ. ๒๔๕๕ และ ๒๔๕๘ โดยขุดพบในบริเวณใกล้ๆ กับที่พบครั้งแรก

 พระที่พบนี้ มีทั้งเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง และเนื้อชินเงิน แต่มีไม่มากนัก ต่อมาเมื่อพ.ศ.๒๕๑๕ ก็มีการขุดพบที่ โรงเรียนช่างกล ซึ่งเคยเป็นบริเวณวัดเก่ามาก่อน

 พระร่วงหลังลายผ้า ที่ขุดพบในครั้งหลังนี้มีประมาณ ๒๐๐ องค์ นอกจากนี้ยังมีพระพิมพ์อื่นๆ อีกหลายพิมพ์

 พระร่วงหลังลายผ้า ที่พบบริเวณโรงเรียนช่างกลนั้น เป็นพระพิมพ์เดียวกับของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ทุกประการ จะผิดกันที่สนิมขององค์พระ จะแดงเข้มกว่า และองค์พระมีขนาดบางกว่าของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เข้าใจว่า เป็นพระที่สร้างพร้อมกัน แต่แยกกันบรรจุคนละที่

 เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ขอม เป็นผู้สร้าง พระร่วงหลังลายผ้า เพราะฉะนั้น ศิลปะขององค์พระ จึงอลังการเป็นอย่างมาก และแสดงให้เห็นว่า ถ้ามิใช่กษัตริย์ในสมัยนั้นสร้าง ก็คงจะไม่มีใครสร้างได้

 มีผู้สันนิษฐานกันว่า พระร่วงหลังลายผ้า ของ เมืองลพบุรี กับ พระร่วงหลังรางปืน ของ เมืองสวรรคโลก น่าจะสร้างในยุคพร้อมๆ กัน เพราะเป็นฝีมือสกุลช่างเดียวกัน

 ฉะนั้น หากท่านผู้ใดมี พระร่วงหลังลายผ้า อยู่ในครอบครอง ก็เหมือนกับมี พระร่วงหลังรางปืน เช่นเดียวกัน

 ขนาดของ พระร่วงหลังลายผ้า พิมพ์ใหญ่ (พิมพ์นิยม) กว้าง ๒.๒ ซม. สูง ๗.๗ ซม. สนนราคาเช่าหาอยู่ที่หลักแสนขึ้นไปทุกองค์  ถ้าหากเป็นองค์พระที่สวยสมบูรณ์คมชัดมากๆ ราคาอาจจะถึงหลักล้านก็มี

 สำหรับ วิหารกรอ เป็นวิหารที่อยู่ในบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ของขอมในอดีต พระเครื่องที่ขุดพบจากกรุวิหารกรอ แห่งนี้มีหลายพิมพ์ ที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักกันมาก คือ พระร่วงยืน มีทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก  แตกกรุครั้งแรกๆ พร้อมกับ พระร่วงหลังลายผ้า ที่ขุดพบจากองค์พระปรางค์ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๓๐ แต่พบจำนวนน้อย ทั้งหมดเป็นพระเนื้อชินสนิมแดง มีชื่อเรียกในวงการพระว่า พระร่วงยืน กรุวิหารกรอ

 พุทธลักษณะ เป็นศิลปะลพบุรี องค์พระยืนประทานพร ยกพระหัตถ์ขวาเสมอพระอุระ และพระกรซ้ายทอดลงสู่เบื้องล่าง เหมือนกับ พระร่วงยืนหลังลายผ้า แตกต่างกันตรงที่องค์พระไม่มีซุ้มเรือนแก้วครอบคลุมอยู่

 ลักษณะของสนิมแดง ที่ปรากฏบนองค์พระ มีเหมือนกับที่ปรากฏใน พระร่วงหลังลายผ้า คือ คราบไขขาวค่อนข้างบาง สนิมไม่แดงเข้มมากนัก   ความนิยมแม้จะเป็นรอง พระร่วงหลังลายผ้า แต่ความหายากพอๆ กัน  ขนาดองค์ พระร่วงยืน กรุวิหารกรอ พิมพ์ใหญ่ มีขนาดเล็กกว่า พระร่วงหลังลายผ้า คือ กว้างประมาณ ๒.๐ ซม. สูง ๖.๕ ซม. สนนราคาถูกกว่าพระร่วงยืน หลังลายผ้า องค์ที่สวยแชมป์ หลักแสนปลาย แต่ก็ยังหาของไม่ได้เลย  เพราะพระที่ขุดพบจากกรุ มีจำนวนน้อย สภาพไม่สมบูรณ์เกือบทั้งกรุ

 พุทธคุณ ของพระร่วงยืนทั้ง ๒ พิมพ์นี้ จากประสบการณ์ที่ผ่านๆ มา ยอดเยี่ยมไปด้วยความคงกระพัน เมตตามหานิยม และโชคลาภ

 ทุกวันนี้ พระร่วงหลังลายผ้า ได้รับการบรรจุไว้ใน ชุดพระยอดขุนพล เนื้อชิน ที่หายากที่สุด ราคาเช่าหา ถือว่าสูงมาก ไม่ด้อยไปกว่า พระร่วงหลังรางปืน ของ เมืองสวรรคโลก แต่ประการใดเลย

"ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ"

ที่มา: คมชัดลึก ออนไลน์

พระร่วงยืน หลังลายผ้า จ.ลพบุรี

  • Product Code: w114
  • Availability: In Stock
  • $0.00


Tags: พระร่วงยืน หลังลายผ้า จ.ลพบุรี